เสด็จเตี่ยกับกองทัพเรือ

 

ทรงรับราชการทหารเรือ  
การจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ
  
การจัดระเบียบการบริหารราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่
  
การจัดทำโครงการสร้างกำลังทางเรือ
  
การปรับปรุงด้านการศึกษาของทหารเรือ
  
การไปอวดธงครั้งแรก
  
ทรงปลูกฝังความรักชาติให้กับนักเรียนนายเรือ
  
การจัดตั้งกำลังอากาศนาวี

 

 

 ทรงรับราชการทหารเรือ 

 
หลังจากที่เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2443 จึงได้รับพระราชทานยศเป็น "นายเรือโทผู้บังคับการ" (เทียบเท่านาวาตรีในปัจจุบัน) ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้เป็นผู้บังคับการเรือปืน ที่กำลังจัดซื้อ คือ ร.ล.พาลีรั้งทวีป หรือ ร.ล.สุครีพครองเมือง ลำใดลำหนึ่ง ในขั้นแรกทรงรับราชการในตำแหน่ง "แฟลคเลฟเตอร์แนล" (นายธง) ของผู้บัญชาการกรมทหารเรือ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อทรงเป็นที่ปรึกษาในกิจการทหารเรือ และทรงปฏิบัติราชการต่าง ๆ ที่ทรงได้รับมอบหมาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงให้เสด็จในกรมฯ ไปสำรวจการป้องกันลำน้ำเจ้าพระยา พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานของเสด็จในกรมฯ แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 30 มิถุยายน พ.ศ.2443 โดยละเอียด ซึ่งเป็นที่พอใจของกรมทหารเรือมาก ดังมีรายงานบางตอนดังนี้

 "เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ป้อมพระจุลจอมเกล้านั้น มีประโยชน์ในการสงครามน้อย 
กล่าวคือ ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ชาติต่างประเทศจะให้เรือรบ
เข้ามาจอดทอดอยู่ที่น่าเมือง สมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่พ้นจากทางปืนของป้อมนั้นก็ได้ 
ถ้าแม้นเกิดสงครามขึ้นกับชาติที่มีเรือเข้ามาจอดอยู่ ในที่อันกล่าวแล้วเช่นนั้น 
เรือนั้นจะไม่ต้องสู้กับ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ก็คงมีประโยชน์สำหรับสู้กับเรือรบ 
ที่จะหนุนเข้ามาเมื่อได้ทำสงครามแล้วเท่านั้น เหตุฉะนี้เห็นด้วยแล้วว่าควรตั้งป้อม
ที่แข็งแรงกว่า ป้อมพระจุลจอมเกล้า ขึ้นที่ตำบลป้อมเสือซ่อนเล็บ ไว้เป็นที่ต่อสู้กับ
เรือรบที่จะแล่นขึ้นมากรุงเทพ"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ทรงมีพระราชหัตถเลขาที่ 7/404 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ.119 ตอบกรมหลวง

ประจักษ์ศิลปาคม มีสาระสำคัญดังนี้ "ได้อ่านรายงานแล้วเห็นว่า เป็นความคิดที่หลักแหลมอยู่"

นอกจากนั้น ยังทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือ และโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพล "พลอาณัติสัญญาณ" (ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรก ทหารเหล่าทัศนสัญญาณ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปีนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2443 อันเป็นวันที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทหารเหล่าทัศนสัญญาณจึงเป็นทหารเรือรุ่นแรก ที่เสด็จในกรม ฯ ทรงฝึกสอนและประทานกำเนิด ทหารเหล่าทัศนสัญญาณจึงเป็นปฐมศิษย์ของเสด็จในกรมฯ และเป็นทหารเรือรุ่นแรกหรือชุดแรกที่ทรงมี ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทรงพอพระทัยในการปฏิบัติงาน ของเสด็จในกรม ฯ มาก ทรงยกย่องว่าทรงมีความรู้จริง และมีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน

ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2443 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม 
เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ได้ กราบถวาย
บังคมลาไปตรวจราชการทหารเรือ ในจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออก และทรงมอบหมายให้ 
เสด็จในกรมฯ ทำการแทนเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเสด็จในกรมฯ เพิ่งกลับจากต่างประเทศยังไม่ถึง 2 เดือน ย่อมจะไม่สามารถ
รับผิดชอบงานของกระทรวงกลาโหมได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ความรับผิดชอบ
ตกอยู่ในหน้าที่ ปลัดทูลฉลองตามธรรมเนียม แต่ให้เสด็จในกรมฯ เข้ามาตรวจราชการงานในออฟฟิศ กระทรวงกลาโหมได้ทั่วไป

กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อทรงพระยศพลเรือตรีในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2444 เสด็จในกรมฯ ได้รับ พระราชทานยศเป็นนายเรือเอก (เทียบเท่านาวาเอกในปัจจุบัน) และได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชวาในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2444 ในตำแหน่งราชองครักษ์ฝ่ายทหารเรือ (Naval Aide - de - Camp) เพื่อจะได้มาศึกษางาน ครั้นต่อมาในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2444 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2447 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศ เสด็จในกรมฯ จาก นายนาวาเอก เป็น นายพลเรือตรี และคงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ครั้งในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2447 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

 

 การจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ 

ในช่วงเวลาประมาณ 2 ปี ที่เสด็จในกรมฯ ทรงรับราชการในกรมทหารเรือ พระองค์คงจะทรงสังเกตว่า 
นายทหารและพลทหารในเวลานั้นขาดทั้งความรู้ ความสามารถ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 
เพราะระบบการเรียกเข้ารับราชการและการฝึกไม่อำนวยให้ ประกอบกับขาดแคลนผู้ฝึกที่มีความสนใจ 
และตั้งใจจริง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2445 พระองค์จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต 
จัดตั้งหน่วยฝึกขึ้นที่บางพระ เพื่อเรียกพลทหารจากจังหวัดชายทะเลในภาคตะวันออกมารับการฝึก 
เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2445 
และได้ทรงอำนวยการและควบคุมการฝึกทหารที่บางพระ อยู่จนถึงวันที่ 17 พฤษจิกายน พ.ศ.2445 
จึงทรงกลับมารับราชการ ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ตามเดิม


 การจัดระเบียบการบริหารราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ 

ในปี พ.ศ.2445 เสด็จในกรมฯ ได้ทรงจัดระเบียบราชการ กรมทหารเรือขึ้นใหม่ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าคงได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดได้เป็นบางตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติศักดินาทหารเรือ ร.ศ.112

ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2446 สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดระเบียบบริหารราชการกรมทหารเรือใหม่ โดยได้ทรงปรึกษากับเสด็จในกรมฯ ซึ่งมีการแบ่งส่วนราชการกรมทหารเรือ ออกเป็น 6 ส่วน คือ

  • กรมปลัดทัพ สำหรับบังคับบัญชากองเรือและกองทหาร ซึ่งเกี่ยวแก่การรบ และสำหรับประจำส่วนราชการทั่วไป ฯลฯ

  • กรมยกกระบัตรทัพ สำหรับบังคับบัญชาการเงินและสรรพาวุธยุทธภัณฑ์

  • กรมเสนาธิการ สำหรับรวบรวมเรียบเรียงข้อบังคับและแบบแผน

  • กรมทะเบียน สำหรับถือทะเบียนกะเกณฑ์และจำหน่ายคน กับทั้งพิจารณาพิพากษาคดีในกรมทหารเรือ

  • กรมยุทธโยธา สำหรับบังคับบัญชาการช่างทั้งหลาย

  • กรมบัญชาการทหารชายทะเล สำหรับบังคับบัญชาทหาร ซึ่งจะต้องประจำรับราชการอยู่ในหัวเมือง

  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2446

    ต่อมาในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2446 เสด็จในกรมฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างการจัดระเบียบราชการ ในกรมทหารเรืออีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า "ข้อบังคับการปกครอง" แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

    ตอนที่ 1 ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการ
    ตอนที่ 2 ว่าด้วยการเร่งคนรับคนเป็นทหาร
    ตอนที่ 3 ว่าด้วยยศทหารเรือ

    ซึ่งพระดำริครั้งนี้ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต

     

     การจัดทำโครงการสร้างกำลังทางเรือ 

    ในปี พ.ศ.2448 เสด็จในกรมฯ ทรงจัดทำโครงการป้องกันประเทศ ทางด้านทะเลขึ้น 
    ตามคำขอของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต โดยทรงทำเสร็จในเดือนตุลาคม 
    และให้ชื่อว่า "ระเบียบจัดการป้องกันฝ่ายทะเลโดยย่อ" มีความยาวประมาณ 5 - 6 หน้า 
    และด้วยความพยายามของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ 
    ซึ่งทรงพระดำริเห็นชอบกับโครงการสร้างกำลังทางเรือ ของเสด็จในกรมฯ และทรงต่อสู้ในด้าน
    งบประมาณ ในการจัดหากำลังทางเรือตามโครงการดังกล่าว จนกระทั่งในปี พ.ศ.2449 
    กรมทหารเรือ จึงได้รับงบประมาณ ให้สั่งสร้างเรือ ล. หรือ Torpedoboat Destroyer 1 ลำ 
    ซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการให้เรียกว่า "เรือพิฆาฏตอรปิโด" และพระราชทานชื่อว่า 
    "เสือทยานชล" นอกจากนั้น จากระเบียบจัดการป้องกันฝ่ายทะเลโดยย่อของเสด็จในกรมฯ 
    เร่งให้กรมทหารเรือได้จัดสร้างทุ่นระเบิดในบังคับอีกด้วย

     เรือเสือทยานชล

     

     การปรับปรุงด้านการศึกษาของทหารเรือ 

    เมื่อนายเรือเอก หม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์) กำลังขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาแล้วนั้น ปรากฏว่าในระยะนั้นเป็นช่วงที่การศึกษาของนักเรียนนายเรือไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องรีบจัดการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญขึ้น จึงได้ทรงหารือกับเสด็จในกรมฯ และกราบบังคมทูลจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2448 เพื่อปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายเรือ คณะกรรมการประกอบด้วย

    1. นายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานกรรมการ
    2. นายเรือเอก หม่อมไพชยนต์เทพ เจ้ากรมยุทธศึกษา นายเรือเอกผู้ช่วย พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิบูลย์พรรณรังษี ผู้บังคับการกองโรงเรียนนายเรือ เป็นองค์กรรมการ
    3. นายเรือตรี คอน เปรียญ เป็นเลขานุการ
     
    ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินงานจัดการโรงเรียนนายเรือใหม่ และจากการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ครั้งนี้เสด็จในกรมฯ ได้ทรงฝึกสอนนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จไปโรงเรียนตั้งแต่เช้า และเสด็จกลับในตอนค่ำทุกวัน เมื่อการปรับปรุงโรงเรียนนายเรือได้ผลสมความมุ่งหมายแล้ว ทางราชการก็จะให้นายเรือเอกหม่อมไพชยนต์เทพ เจ้ากรมยุทธศึกษาปกครองต่อไป แต่นายเรือเอก หม่อมไพชยนต์เทพ มีความประสงค์จะลาออก ดังนั้นในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเรือเอกหม่อมไพชยนต์เทพ ออกจากราชการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงทำการในตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแทน

    เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงทำการในตำแหน่งเจ้ากรม ยุทธศึกษาทหารเรือแล้ว ทรงปรับปรุงการศึกษาของ โรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยโปรดให้สร้าง "โรงเรียนช่างกล" ขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2449 โดยแยกศึกษาวิชาคนละสาขากับนักเรียนนายเรือ เว้นแต่วิชาอย่างเดียวกัน นักเรียนนายช่างกลเหล่านี้ ได้รับสมัคร จากนักเรียนนายเรือที่สมัครจะเรียน วิชาช่างกลนั่นเอง ในระยะแรก ๆ นั้น ปรากฏว่าสถานที่ฝึกงาน ภาคปฏิบัติของนักเรียนนายเรือยังไม่มี เสด็จในกรมฯ โปรดให้สร้างโรงงานขึ้น โดยสั่งหม้อน้ำเครื่องจักร ฯลฯ มาจากที่ต่าง ๆ พอที่จะประกอบเป็นโรงงานย่อม ๆ ขึ้น

    นอกจากจะมีการศึกษาในชั้นเรียนแล้ว เสด็จในกรมฯ ยังโปรดให้นักเรียนนายเรือฝึกหัดภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนมีความชำนาญที่จะเป็นนายทหารเรือชั้นเยี่ยม โดยโปรดให้กรมยุทธโยธาทหารเรือสร้างเสาธงขึ้นหนึ่งเสา ตามแบบในเรือทูลกระหม่อม ประกอบด้วย พรวน 3 ชั้น พร้อมด้วยเครื่องประกอบ เชือก เสา เพลา ใบ ทรงหัดให้นักเรียนนายเรือขึ้นเสา และประจำพรวน กางใบ ม้วนใบ ฯลฯ นอกจากนั้นทรงจัดให้มีเรือกรรเชียง ไว้ฝึกหัดตีกรรเชียง แล่นใบ และให้พิมพ์แบบผูกเชือกขึ้นไว้ เพื่อเป็นตัวอย่างในการเรียนผูกเชือกแบบต่างๆ ด้วย

    ทางด้านการกีฬา ได้ทรงขอครูมาจากกระทรวงธรรมการ เพื่อมาสอนบาร์คู่ บาร์เดี่ยว และห่วง เพื่อให้นักเรียนฝึกหัดจนได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง เพราะปรากฏว่านักเรียนมีสุขภาพดี และแข็งแรงขึ้นเป็นอันมาก ใน พ.ศ.2449 นี้ ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมดไปฝึกทางทะเลด้วย เรือยงยศอโยชฌิยา เรือลำนี้เป็นเรือกลไฟขนาดกลาง มีเสาใบพร้อม แต่ทรงให้ติดพรวนชั้นต่ำขึ้นอีกเป็นพิเศษ และได้ให้นักเรียนขึ้นเสา ลงเสา กางใบ ถือท้าย ใช้เข็มทิศน้ำ ดิ่ง และการเรือทุกชนิด การไปฝึกครั้งนี้ ไปทางภาคตะวันออกของอ่าวไทย จนถึงจังหวัดจันทบุรี ราวหนึ่งเดือนจึงกลับ ปรากฏว่าบรรดานักเรียน มีความคล่องแคล่วและเข้มแข็งในการเดินเรือเป็นอย่างยิ่ง

     

     การไปอวดธงครั้งแรก 

    ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ 1)ใน พ.ศ.2450 เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ประมาณ 100 คน ไปอวดธงที่ สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิทัน โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ 1) ในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับเรือเอง พร้อมด้วยนักเรียน และทหารประจำเรือ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น ในการออกฝึกและอวดธงในครั้งนี้ ทรงบัญชาการฝึก นักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง ให้นักเรียนทำการฝึกหัดปฏิบัติการในเรือทุกอย่าง เพื่อให้มีความอดทนต่อการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และเพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจริง ๆ มีความกล้าหาญ รักชาติ ให้รู้จักชีวิตของการเป็นทหารเรือ อย่างแท้จริง กลับถึงกรุงเทพในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2450

    การที่เสด็จในกรมฯ ทรงนำนักเรียนนายเรือไปทำการอวดธง ในต่างประเทศครั้งแรกนี้ 
    จึงนับเป็นเกียรติแก่ทหารเรือไทย เพราะย่อมทราบกันทั่วไปว่า ชาติที่เป็นเอกราชเท่านั้น 
    จึงจะมี "ธงราชนาวี" ของตนเองได้ ฉะนั้นเรือหลวงของ ราชนาวีทุกลำ จึงเป็นเสมือน
    ประเทศไทยเคลื่อนที่ เมื่อไปปรากฏในต่างประเทศ นับว่าทหารเรือไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่
    ด้วยความสำเร็จ ก็เพราะพระวิริยะอุตสาหะ ของเสด็จในกรมฯ

    อนึ่งจากการนำเรือไปอวดธงครั้งนี้ เสด็จในกรมฯ ทรงนำเรือมกุฎราชกุมารแวะที่สิงคโปร์ และได้เปลี่ยนสี เรือมกุฎราชกุมารเป็นสีหมอกตามอย่างเรือรบต่างประเทศ เพราะเวลานั้นเรือรบไทยยังทาสีขาวอยู่ นอกจากนั้น ยังได้นำพิธีข้ามเส้นศูนย์สูตรมาใช้ในกองทัพเรือไทย เป็นครั้งแรก และยังคงถือปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้

    ทรงฉายร่วมกับศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาจาก
  โรงเรียนนายเรือ

    ทรงฉายร่วมกับศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนนายเรือ
    แถวนั่ง
    1. พลเรือโท พระยาราชวังสัน
    2. กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์
    3. พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร 
    แถวยืน
    4 นายเรือตรี ผู้ช่วยนายแนบ

     

     ทรงปลูกฝังความรักชาติให้กับนักเรียนนายเรือ 

    เนื่องจากประเทศไทยถูกรุกรานทางทะเลจาก ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเกิดกรณีเหตุการณ์การรบ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ร.ศ.112 ทำให้ประเทศไทย ต้องสูญเสียดินแดนไปบางส่วน พร้อมกับเสียเงินค่าทำขวัญ พร้อมทั้งจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ถูกยึดเป็นประกัน เสด็จในกรมฯ ทรงเจ็บแค้นพระทัย เป็นอย่างมาก จึงทรงให้นักเรียนนายเรือสักคำว่า "ร.ศ.112 ตราด" ไว้ที่หน้าอกทุกคนรวมทั้งพระองค์ท่านด้วย เพื่อเป็นเครื่องจดจำ และหาหนทางที่จะแก้แค้นต่อไป

    นอกจากการสักแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงแต่งเพลง ฮะเบสสมอ
    และอื่น ๆ  ซึ่งมีอยู่หลายบทด้วยกัน และให้นักเรียนนายเรือร้องเพื่อปลุกใจให้กล้าหาญ
    และรักชาติ ให้สมกับเป็นทหารเรือไทย

    นอกจากนั้นเสด็จในกรมฯ โปรดให้สร้างเรือน้ำตาลขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2449 ซึ่งเป็นเรือจำลองมีคำว่า "ร.ศ.112" ที่หัวเรือ ตั้งไว้บนบกเพื่อให้นักเรียนนายเรือชั้น 4 ชั้น 5 ฝึกแก้อัตราผิดของเข็มทิศ เพื่อเวลานำเรือ ออกท้องทะเลลึกโดยเข็มไม่ผิด และให้ได้เห็นทุกวัน เป็นการเตือนใจให้หาทางแก้เผ็ด และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ เช่น ร.ศ.112 เกิดขึ้นอีก และที่ทรงใช้ชื่อว่า "น้ำตาล" เพราะน้ำตาลแก้รสเผ็ดได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเรือที่ลอยน้ำไม่ได้ (เช่นเดียวกับน้ำตาล)

    นอกจากทรงใฝ่พระทัยในด้านการศึกษาของ นักเรียนนายเรือแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงดำริว่า สำหรับการช่วยเหลือราษฎรในด้านการดับเพลิงนั้น ควรจะได้ให้นักเรียนนายเรือได้มีการฝึกทำการช่วยเหลือ ราษฎรทำการดับเพลิง เพราะมีเรือสูบน้ำ และเรือกลไฟเล็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมเรือกลอยู่แล้ว และมีหน้าที่ดับเพลิง ฉะนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่ใด เรือกลไฟจะทำหน้าที่ลากจูงเรือ สูบน้ำไปทำการดับเพลิงเป็นประจำ ดังนั้นเสด็จในกรมฯ ทรงจัดตั้งกองดับเพลิงของทหารเรือขึ้น โดยมีกองต่าง ๆ ดังนี้ คือ

    1. กองถัง
    2. กองขวาน
    3. กองผ้าใบกันแสงเพลิง
    4. กองรื้อและตัดเชื้อเพลิง
    5. กองช่วย
    6. กองพยาบาล

    ต่อมาจึงได้เพิ่มกองสายสูบขึ้นกองหนึ่ง ในการนี้ได้ทรงจัดให้นักเรียนนายช่างกล ทำหน้าที่ร่วมกับ นักเรียนอื่น ๆ และเพื่อความชำนาญ ให้มีการเปลี่ยนกันไปบ้าง ตามความสามารถของนักเรียน นอกจากนั้นเสด็จในกรมฯ ทรงฝึกหัดการดับเพลิงให้กับทหาร และนักเรียนนายเรือ ด้วยพระองค์เอง ในสมัยนั้นมักจะเกิดเพลิงไหม้บ่อย ๆ เสด็จในกรมฯ จะเสด็จไปบัญชาการดับเพลิง ด้วยพระองค์เองเสมอ ๆ โดยไม่ทรงถือพระองค์ และจะลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นแบบอย่าง แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความกล้าหาญ ดังเช่น ในต้นเดือนธันวาคม ร.ศ.119 (พ.ศ.2443) เกิดเพลิงไหม้ที่ตำบลบ่อนหัวเม็ดทางด้านวัดบพิตรพิมุข เสด็จในกรมฯ ทรงปีนหลังคาแล้วทำการรื้อ เพื่อจะตัดต้นไฟด้วยพระองค์เอง จนถึงกับประชวร พระวาโย 2 ครั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง ประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และรั้งตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกรมทหารเรือ ได้ถวายรายงานขอพระราชทานบำเหน็จ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่นายทหารและพลทหารในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชมเชยในความอุตสาหะและความกล้าหาญ แต่ยังไม่ทรงเห็นด้วยที่จะพระราชทานรางวัล เพราะในครั้งนั้นยังไม่เคยมีรางวัล และอีกประการหนึ่ง การที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นต่ำ ๆ ก็ไม่เหมาะสมกับเสด็จในกรมฯ ดังนั้นพระองค์ ทรงให้นับไว้บวกกับความดี ซึ่งจะมีในภายหน้าที่จะได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงต่อไป

    การปฏิบัติงานของกองดับเพลิงนั้น ได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ ดังเช่น 
    ในวันที่ 4 และ 5 เมษายน พ.ศ.2449 ได้เกิดเพลิงไหม้ขนานใหญ่ที่ตำบลราชวงศ์ 
    กองดับเพลิงได้ทำการดับเพลิงอย่างเข้มแข็ง จนได้รับคำชมเชยดังนี้ 
    "วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2449 กรมทหารเรือได้ลงคำสั่งที่ 8/136 ให้ทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรรเสริญ ความอุตสาหะของกรมทหารเรือในการดับเพลิง ที่ตำบลถนนราชวงศ์ เมื่อวันที่ 4 และ 5 เมษายน ร.ศ.125 จึงให้กรมกองประกาศให้นายทหาร พลทหาร และพลนักเรียนทราบทั่วกัน"

    ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดี กระทรวงทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

    ครั้นถึงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ทรงออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง รวมเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงรับราชการครั้งแรก 11 ปี

     

     

     การจัดตั้งกำลังอากาศนาวี 

    ความคิดในการจัดตั้งกำลังทางอากาศนาวี (Naval Air Arm) นั้น ได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2464 เมื่อนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการกระทรวงทหารเรือ ทรงเสนอความเห็นต่อที่ประชุม สภาบัญชาการ กระทรวงทหารเรือ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2464 ว่า "สมควรเริ่มตั้งกองบินทะเลขึ้นใน พ.ศ.2465 โดยใช้สัตหีบเป็นถาน (ฐานทัพ) และควรเริ่มตั้งต้นซื้อเครื่องบินทะเลเพียง 2 ลำก่อน กับควรให้นายนาวาเอก พระประดิยัตินาวายุทธ (ต่อมาเป็น พลเรือโทพระยาราชวังสัน) ซึ่งกำลังดูงานอยู่ในยุโรปขณะนั้น ดูระเบียบการจัดเครื่องบินทะเลไว้ด้วย สำหรับนักบินนั้นควรเลือกนายทหารที่เหมาะสม ไปฝากฝึกหัดบินที่ กรมอากาศยานทหารบก" สภาบัญชาการฯ มีมติอนุมัติข้อเสนอนี้ ในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2464 และมอบให้เสด็จในกรมฯ ทรงจัดทำโครงการ (Scheme) ในเรื่องนี้ต่อไป กองการบินทหารเรือปัจจุบันจึงถือเอาวันที่ 7 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วย และชาวบินนาวีได้ยึดถือว่า นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระบิดาแห่งการบินนาวีด้วย

     


    วันอาภากร